ตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้แบบทดทลอง




ตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้แบบทดทลอง
เรื่อง การตอบสนองต่อสิ่งเร้า

สาระสำคัญ
สิ่งมีชีวิตมีการรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระทบ เช่น แสง เสียง อุณหภูมิและการสัมผัส
จุดประสงค์
1. อธิบายเกี่ยวกับการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของพืชและสัตว์ได้
2. ทดลองและอธิบายผลของการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของพืชและสัตว์
สาระการเรียนรู้
การตอบสนองต่อสิ่งเร้า
กระบวนการจัดการเรียนรู้
1. ขั้นเตรียมการทดลอง
1.1 ผู้สอนแจ้งจุดประสงค์การเรียน
1.2 ผู้สอนสำรวจบริเวณโรงเรียนที่มีต้นไมยราบ
1.3 ผู้สอนจัดเตรียมน้ำแข็ง น้ำอุ่น น้ำร้อน
1.4 ผู้สอนแบ่งกลุ่มผู้เรียนออกเป็น 4 กลุ่ม
2. ขั้นทดลอง
2.1 ผู้เรียนดูรูปภาพเกี่ยวกับฤดูกาลต่าง ๆ แล้วร่วมกันอภิปรายความรู้สึก
2.2 ผู้สอนให้ผู้เรียนร่วมกันวางแผนการสำรวจ วิธีการสังเกต การทดลอง และสำรวจอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลอง
2.3 ผู้เรียนแต่ละกลุ่มแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในการทำงาน
2.4 ผู้เรียนเริ่มปฏิบัติการสังเกต การทดลอง การตอบสนองต่อสิ่งเร้าของพืชและสัตว์ ตามใบงานในเรื่องดังนี้
2.4.1 เมื่อใช้มือหรือไม้สัมผัสต้นไมยราบมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
2.4.2 เมื่อนำน้ำแข็งถูแขนจะเกิดอะไรขึ้น
2.4.3 เมื่อใช้มือจับแก้วน้ำร้อน เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น
2.4.4 เมื่อใช้มือจับแก้วน้ำอุ่น เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น
2.4.5 เขียนบันทึกลงในสมุด
3. ขั้นเสนอผลการทดลอง
ผู้เรียนช่วยกันอภิปรายผลทุกรายการสำรวจ ทดลอง และช่วยกนคิดว่ามีพืชและสัตว์
ชนิดอื่นอีกหรือไม่ที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าด้วยวิธีการต่าง ๆ

4. ขั้นอภิปรายและสรุปผล
4.1 ผู้เรียนช่วยกันอภิปรายผลทุกการสำรวจ ทดลองและช่วยกันคิดว่ามีพืชและสัตว์ชนิดอื่น
อีกหรือไม่ที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าด้วยวิธีการต่าง ๆ
4.2 ผู้สอนอธิบายความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของพืชและสัตว์
ในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การปฏิบัติตนที่ถูกวิธีเมื่อสัมผัสความร้อนและความเย็น
5. ขั้นประเมินผล
ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันสรุปสาระการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการตอบสนองต่อสิ่งเร้า
สื่อการเรียนรู้
1. บริเวณโรงเรียนที่มีต้นไมยราบ
2. น้ำแข็ง
3. น้ำอุ่น
4. น้ำร้อน
5. แก้วน้ำ
การวัดและประเมินผล
1. สังเกตการณ์ทำกิจกรรม
2. สังเกตจากการตอบคำถาม
3. ประเมินจากการนำเสนอผลงาน

เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลของการสอนแบบทดลอง


การประเมินตามสภาพจริง เป็นกระบวนการสังเกต การบันทึก และรวบรวมข้อมูลจากงานและวิธีการ
ที่ผู้เรียนทำ

เครื่องมือที่ใช้ในการวัดการสอนแบบวิธีการทดลอง

โดยทั่วไปแล้ว เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ประเภทที่ใช้ในการประเมินพฤติกรรมการทำงานซึ่งเน้นที่ความถูกต้องของกระบวนการทำงาน และประเภทที่ใช้ในการประเมินคุณภาพของการปฏิบัติงาน เครื่องมือเหล่านี้มีหลายประเภท เช่น การใช้การสังเกตในการเก็บข้อมูลผ่านแบบสังเกต แบบระเบียนพฤติการณ์ แบบตรวจสอบรายการ หรือการตั้งคำถามให้ผู้เรียนอธิบายโดยใช้แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม แต่ละแบบมีเป้าหมายในการวัดที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมที่วัด เมื่อพิจารณาธรรมชาติของเครื่องมือเหล่านี้ และ จุดมุ่งหมายของการใช้แล้ว สามารถจัดจำแนกประเภทของเครื่องมือได้ ดังนี้
1. เครื่องมือประเภทที่ใช้ในการวัดกระบวนการปฏิบัติงาน
การวัดกระบวนการปฏิบัติงานเน้นที่ทักษะความสามารถในการทำงานความถูกต้องของการปฏิบัติ ลำดับการทำงาน วิธีการวัดที่มีความตรงคือการใช้การสังเกต ประเมินพฤติกรรมการทำงาน เครื่องมือที่ใช้ในการสังเกตที่ใช้กันมากได้แก่ แบบตรวจสอบรายการ ระเบียนพฤติการณ์ มาตรประมาณค่า แผนภูมิการมีส่วนร่วม เป็นต้น
2. เครื่องมือประเภทที่ใช้ในการวัดผลงาน
สำหรับการวัดคุณภาพของผลงานที่ผู้เรียนทำส่ง ไม่ว่าจะเป็น ผลงานรายงาน การทดลอง โครงงาน สามารถประเมินได้โดยใช้แบบประเมินหรือแบบตรวจสอบคุณภาพ แบบประเมินดับกล่าวก็เหมือนกับมาตรประมาณค่าโดยทั่วไป

ประโยชน์ของการสอนแบบทดลอง


ประโยชน์
1. ผู้เรียนสามารถค้นพบความจริงด้วยตนเอง และเข้าใจเนื้อหาดียิ่งขึ้น
2. ผู้เรียนเกิดสนใจการเรียน
3. ผู้เรียนมีอิสระในการทำงาน
4. ช่วยให้ผู้เรียนรู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม
5. เมื่อผู้เรียนประสบความสำเร็จในการทดลองจะเกิดกำลังใจในการเรียน
6. เป็นการเปลี่ยนจากรูปธรรมไปสู่นามธรรม
ข้อจำกัด
1. ไม่สามารถใช้ได้กับทุกบทเรียน
2. ถ้าแบ่งนักเรียนเป็นหลายกลุ่มผู้สอนจะต้องเตรียมอุปกรณ์มาก
3. ถ้าผู้สอนไม่ควบคุม ผู้เรียนอาจจะเล่นสื่อการเรียน ไม่พยายามค้นหาความจริงจากการทดลอง
4. ถ้าบทเรียนนั้นยาว ผู้เรียนที่อ่อนจะไม่ประสบความสำเร็จในการทดลอง

กระบวนการสอนแบบทดลอง

กระบวนการสอนแบบทดลอง มี 5 ขั้นตอน ดังนี้
1. ขั้นเตรียมการทดลอง
1.1 กำหนดจุดประสงค์ ผู้สอนต้องศึกษาหลักสูตร คู่มือครู หรือแผนการสอนแล้วตั้งจุดประสงค์การสอนให้ชัดเจนว่าต้องการให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมแต่ละด้านอย่างไรบ้างจากากรเรียนด้วยการลงมือทดลองปฏิบัติ
1.2 วางแผนการทดลอง เป็นขั้นที่ผู้สอนต้องลำดับขั้นตอนการสอนและเตรียมกำหนดกิจกรรมไว้ล่วงหน้าว่าจะนำเข้าสู่บทเรียนอย่างไรให้ผู้เรียนได้ทดลองตามลำดับขั้นอย่างไรบ้าง สรุปผลการทดลองและเสนอผลตอนใด อย่างไร หรือโดยวิธีใด เป็นต้น
1.3 จัดเตรียมวัสดุและเครื่องมือ ตลอดจนแบบบันทึกผลการทดลองและแบบแระเมินผล ผู้สอนต้องเตรียมไว้ให้พร้อม ให้มีจำนวนมากพอเพียงกับจำนวนนักเรียน และอยู่ในสภาพที่ใช้

การได้
1.4 ตรวจสอบความถูกต้องและประสิทธิภาพของเครื่องมือ วัสดุที่ใช้ ผู้สอนควรได้ทดลองใช้เครื่องมือก่อนสอน เพื่อให้เห็นปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นล่วงหน้า และเพื่อเป็นประโยชน์ในการแนะนำ ตักเตือน ผู้เรียนในขณะทดลอง
1.5 เตรียมแบ่งกลุ่มผู้เรียน ผู้สอนต้องกำหนดกลุ่มผู้เรียนให้เหมาะสม ไม่ควรเป็นกลุ่มใหญ่มาก เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนได้เรียนรู้วิธีทดลองอย่างทั่วถึง การแบ่งกลุ่มผู้เรียนต้องสอดคล้องกับจำนวนวัสดุ เครื่องมือ อุปกรณ์ที่มีอยู่
2. ขั้นทดลอง
2.1 ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เป็นขั้นเร้าความสนใจ ผู้สอนควรได้แจ้งจุดประสงค์ การทดลอง ขั้นตอน วิธีการทดลอง แนะนำการใช้เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ให้ผู้เรียนได้ทราบบทบาทของตน และให้ศึกษาคู่มือปฏิบัติการก่อนการลงมือทดลอง
2.2 ขั้นทดลอง ผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการทดลอง โดยมีผู้สอนคอยดูแล แนะนำ ช่วยเหลือ ถ้าเป็นการทดลองที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ผู้สอนต้องควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด
3. ขั้นเสนอผลการทดลอง
ผู้เรียนนำเสนอผลการทดลองและรายละเอียดประกอบ เช่น โครงการทดลอง การเตรียมการ วิธีการทดลอง และผลที่ได้จากการทดลอง
4. ขั้นอภิปรายสรุปผล
ในขั้นนี้ผู้เรียนจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ตนได้รับ เช่น บางกลุ่มอาจได้ผลการทดลองที่คลาดเคลื่อนก็จะได้ช่วยกันวิเคราะห์หาสาเหตุผิดพลาดที่ขั้นตอนใดและมีแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างไร ในขั้นนี้ผู้สอนจะมีบทบาทในการให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม ย้ำประเด็นสำคัญ และสรุปหลักการ ความคิดรวบยอดที่ได้จากการทดลอง

5. ขั้นประเมินผล
เมื่อการอภิปรายสรุปผลเสร็จสิ้นลง ผู้สอนควรได้ประเมินผลผู้เรียนในด้านต่างๆ และแจ้งให้ผู้เรียนทราบผู้เรียนทราบเพื่อการปรับปรุงแก้ไขในการทดลองที่จะมีขึ้นในครั้งต่อไป เช่น ประเมินด้านการใช้เครื่องมือ ด้านความละเอียดรอบคอบในการทดลอง ด้านการจดบันทึก ผลการทดลอง ด้านการรายงานผล ด้านการให้ความร่วมมือกับกลุ่ม เป็นต้น

รูปแบบการสอนแบบทดลอง

วิธีการสอนแบบทดลอง

การสอนแบบทดลอง เป็นการเรียนการสอนที่มุ่งให้ผู้เรียน เรียนโดยการกระทำหรือปฏิบัติจริง เป็นการนำรูปธรรมมาอธิบายเป็นนามธรรม นักเรียนจะค้นหาข้อสรุปจากการทดลองนั้นด้วยตนเอง การเรียนการสอนแบบทดลอง จะยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง อาจจะทดลองเป็นกลุ่มหรือรายบุคคลก็ได้ ขึ้นกับเนื้อหาและความเหมาะสม

จุดประสงค์

1. เพื่อให้ผู้เรียนค้นคว้าสรุปด้วยตนเอง

2. เพื่อให้สำรวจตรวจดูงานที่ทำไปแล้วด้วยการทดลอง

3. เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักทำงานกลุ่มด้วยการทดลองร่วมกัน

4. เพื่อฝึกการทำงานแบบประชาธิปไตย

5. เพื่อฝึกให้ผู้เรียนเป็นคนช่างสังเกตและจดบันทึก

6. เพื่อฝึกให้ผู้เรียนคิดอย่างอิสระ

7. เพื่อสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียน

การสอนแบบทดลอง


การสอนแบบทดลอง
โดย
นางสาวสุรางคณา จันทร์เรือง
นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาหลักสูตรและการสอน
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา